Appearance : ภาพถ่าย เวลา และการมอง
ธนาวิ โชติประดิษฐ
ประทีป สุธาทองไทยเป็นศิลปินรุ่นใหม่ที่ทำงานโดยใช้ภาพถ่ายและกระบวนการถ่ายภาพ เขาเล่นกับการเห็นของผู้ชมต่อภาพที่เขาสร้างขึ้น เรามักประหลาดใจ
กับภาพที่อยู่เบื้องหน้าว่ามันถูกสร้างขึ้นมาได้อย่างไร ดูราวกับว่ากว่าจะได้มาซึ่งผลงานหนึ่งชิ้น ศิลปินจะต้องถ่ายภาพซ้ำๆ จำนวนนับไม่ถ้วน แม้จะมีผู้กล่าวว่าการถ่าย
ภาพคือการหยุดเวลา แต่ภาพถ่ายของประทีปกลับมี “ช่วงเวลา” ที่ยาวนานอยู่ในนั้น หนึ่งภาพที่เราเห็น อาจหมายถึงการถ่ายภาพนับร้อยครั้ง เขาให้ความสำคัญกับ
ตัวกระบวนการมากไปกว่าผลลัพธ์ในเชิงภาพถ่าย แต่กระนั้นก็ตาม การนำเสนอกระบวนการก็จำต้องอาศัยสิ่งที่เป็นรูปธรรม สำหรับนิทรรศการ Appearance เขาเลือกที่จะแสดงฟิล์มแทนที่จะเป็นตัวภาพถ่าย
ฟิล์มเป็นวัสดุที่แสดงความเป็นกระบวนการได้ดีเพราะมันคือสิ่งที่อยู่ก่อนตัวผลลัพธ์ (ภาพถ่าย) ขั้นตอนใดๆ ก่อนที่ภาพจะถูกล้างอัดออกมาจะเกิดขึ้นภายหลังจาก
ที่ผู้ถ่ายภาพได้กดชัตเตอร์บันทึกลงไปบนแผ่นฟิล์มนี้ ภาพถ่ายจึงเป็นผลลัพธ์สุดท้ายที่อาจจะต่างออกไปโดยสิ้นเชิงจากตัวต้นแบบก็ได้ในเมื่อปัจจุบันเทคโนโลยี
คอมพิวเตอร์เข้ามามีส่วนอย่างมากในการจัดการกับภาพ ในแง่ของการแสดงกระบวนการ ฟิล์มจึงเป็นวัสดุที่เหมาะสมอยู่ในตัว
ประทีปนำฟิล์มมาเรียงต่อๆ กันจนเราสามารถมองเห็นความต่อเนื่องของมุมมองของเขา สถาปัตยกรรมอาจเป็นหัวข้อที่ดีที่สุดในการนำเสนอความต่อเนื่องดังกล่าวนี้ เนื่องจากสถาปัตยกรรมคือสิ่งที่นิ่งอยู่กับที่ สิ่งเดียวที่เคลื่อนไหวจึงเป็นตัวศิลปินเอง เขาค่อยๆ ขยับมุมกล้องจากซ้ายไปขวา จากล่างขึ้นบนไปจน360 องศา ความบิดเบี้ยว
ของรูปทรงในภาพจึงเกิดจากเคลื่อนไหวของผู้ถ่ายภาพ ภาพถ่ายจึงไม่ใช่บันทึกของความเป็นจริงดังที่มันเป็นอยู่โดยแท้ หากเป็นความจริงที่ถูกสร้างและควบคุม
ผลงานชิ้นเล็กให้ผลต่อผู้ชมในเชิงการมองพิจารณาต่างจากงานชิ้นใหญ่ เรามักถูกสะกดให้ตะลึงด้วยแรงปะทะจากขนาดของชิ้นงาน ยิ่งใหญ่ก็ยิ่งน่าตื่นตา แต่งานชิ้นเล็กจะส่งผลที่ต่างออกไป ผู้ชมมีแนวโน้มที่จะขยับเข้าไปใกล้ๆ และหยุดค้นหารายละเอียดจากภาพโดยใช้เวลาที่ยาวนานกว่า ภายในกรอบของสายตาที่
สามารถเก็บภาพไว้ได้หมด งานชิ้นเล็กนั้นง่ายที่จะดึงดูดให้ผู้ชมเดินเข้าไปใกล้ๆ และใช้เวลากับมัน สิ่งที่ประทีปเลือกถ่ายก็เป็นสิ่งเล็กๆ น้อยๆ เช่นกันกระบวนการในการ
สร้างมุมมองใหม่ต่อสิ่งที่มีอยู่แล้วของประทีปเกิดขึ้นหลายชั้น ตั้งแต่การเลือกมุมของสถาปัตยกรรม ไม่ว่าจะเป็นบันได มุมหนึ่งของอาคารในวัดโพธิ์ ฐานของเจดีย์
หรือแม้กระทั่งพื้นหินอ่อน สิ่งเหล่านี้ล้วนแต่เป็นรายละเอียดที่โดยทั่วแล้วเรามักไม่ได้ให้ความสนใจ ศิลปินหยิบมันขึ้นมาและเน้นย้ำด้วยการถ่ายภาพซ้ำๆ แต่ขยับมุมไป
ทีละนิด ฟิล์มแต่ละแถบถูกนำมาจัดเรียงเข้าด้วยกันในขั้นตอนสุดท้าย จนเกิดเป็นภาพรวมที่ดูน่าสนใจและแปลกออกไปจากความเป็นจริง บางภาพดูเหมือนกับลายอะไร
บางอย่าง จนกระทั่งเรามองอย่างใกล้ชิดจึงรู้ว่าที่แท้แล้วคือส่วนหนึ่งของสถาปัตยกรรม
สิ่งที่ภาพถ่ายนำเสนอเป็นมุมมองของผู้ถ่ายภาพ เมื่อเรามองวัดต่างๆ ผ่านสายตาของประทีป เราก็เห็นสายตาที่ศิลปินมองสิ่งที่อยู่เบื้องหน้าของเขา ภาพถ่ายจึงไม่ใช่
ความจริงเชิงภววิสัย หากเป็นอัตวิสัยของผู้ถ่าย โดยเฉพาะอย่างยิ่ง ผลงานของประทีปจงใจที่จะแสดงให้เห็นถึงมุมมองจำนวนมากต่อสิ่งๆ เดียว มันจึงชี้ให้เห็นว่า สิ่งต่างๆ
นั้นไม่เที่ยงอย่างที่เราคิดเสมอไป หากผันแปรไปตามวิธีที่เรามองมันการเผยให้เห็นตัวกระบวนการในการสร้างภาพถ่ายสัมพันธ์กับเรื่องของ “เวลา” ผลงานของประทีป
บรรจุห้วงเวลาที่ยาวนานเอาไว้ภายใน เพราะภาพที่ปรากฏได้โน้มนำจินตนาการของผู้ชมให้นึกไปถึงช่วงเวลาที่ศิลปินขยับร่างกายไปทีละนิดเพื่อถ่ายภาพจำนวนนับครั้ง
ไม่ถ้วน การที่เขาเลือกที่จะนำเสนอแผ่นฟิล์มเหล่านั้นในลักษณะที่เรียงต่อๆ กันยิ่งทำให้ห้วงเวลา (ที่ผ่านเลยไปแล้วในความเป็นจริง) ถูกนำเสนอใหม่อย่างชัดเจนยิ่งขึ้น เวลากับความเคลื่อนไหวที่แช่มช้าของศิลปินและกระบวนการเชิงเทคนิคของภาพถ่ายเป็นลักษณะเฉพาะในผลงานของประทีป ภาพที่ศิลปินนำเสนอ จึงเป็นการปรากฏ (appearance) ของสิ่งต่างๆ ในสายตาของเขา คือสิ่งที่เขาอยากเห็น และอยากให้เป็น
นิทรรศการ Appearance โดย ประทีป สุธาทองไทย จัดแสดงที่ I Gallery (IQ LAB สาขาเพชรบุรี)
ระหว่างวันที่ 14 – 26 กันยายน 2549
|