การผลิตซ้ำสิ่งศักดิ์สิทธิ์ในสังคมไทยร่วมสมัย
ชาตรี ประกิตนนทการ
มีคนเป็นจำนวนไม่น้อยที่เห็นสอดคล้องตามข้อเสนอของ วอลเตอร์ เบนยามิน (Walter Benjamin) ในบทความชิ้นสำคัญชื่อ“งานศิลปะในยุคแห่งการผลิตซ้ำเชิง
จักรกล” (The Work of Art in the Age of Mechanical Reproduction) ซึ่งเสนอว่าระบบทุนนิยม ระบบผลิตแบบอุตสาหกรรมและลัทธิบริโภคนิยมจะส่งผลกระทบ
ให้เกิดปรากฎการณ์ทางสังคมที่เข้ามาลดทอนความศักดิ์สิทธิ์หรือความขลัง (aura) ของวัตถุสิ่งของต่างๆ ลงจนหมดสิ้น
สิ่งของทางวัฒนธรรมที่เคยดำรงสถานะศักดิ์สิทธิ์ตามระบบทางสังคมก่อนยุคทุนนิยมเมื่อปะทะเข้ากับระบบการผลิตแบบอุตสาหกรรมที่สามารถผลิตซ้ำวัตถุสิ่งของ
ที่มีคุณลักษณะทางกายภาพเหมือนต้นฉบับออกมาได้เป็นจำนวนมหาศาลภายในเวลาอันรวดเร็ว จะนำมาสู่การบ่อนทำลายสถานภาพอันสูงส่ง, ความเป็นต้นฉบับ,
หรือความขลัง ให้สูญสลายไป
อย่างไรก็ตาม เมื่อนำทฤษฎีข้างต้นมาพิจารณาปรากฎการณ์จริงในสังคมไทย กลับพบว่าส่งผลไปในทิศทางตรงกันข้ามหาก วอลเตอร์ เบนยามิน กล่าวถูกต้อง เราจะอธิบายอย่างไรกับกระแสจตุคามรามเทพเมื่อหลายปีก่อนเราจะสามารถมองจตุคามรามเทพซึ่งถูกผลิตซ้ำออกมาเป็นจำนวนมากว่าเป็นเรื่องของทุนนิยมโดยไร้ซึ่งมิติ
ของความศักดิ์สิทธิ์ได้จริงหรือ ความศักดิ์สิทธิ์ได้ถูกกลืนกินไปโดยทุนนิยมอย่างสมบูรณ์แบบแล้วแน่หรือ การทำให้ก้อนดินและส่วนประกอบอื่นๆ ที่เรียกกันว่า “มวลสาร”
อันไม่มีราคาค่างวดอะไรเลย ยกระดับจนไปมีราคาเป็นพันบาท หมื่นบาท บางรุ่นเป็นแสนบาทนั้น เป็นเรื่องของระบบทุนนิยมเพียงอย่างเดียวเท่านั้นจริงหรือ
แน่นอน ระบบทุนนิยมทำให้จตุคามรามเทพกลายเป็นสินค้า เช่นมีการเหมาเครื่องบินขึ้นไปทำพิธีกรรมปลุกเสกจตุคามรามเทพบางรุ่นเหนือพระบรมธาตุ
นครศรีธรรมราช อันเป็นการทำการตลาดแบบสมัยใหม่ให้แก่สินค้า แต่กระนั้นความคิดเกี่ยวกับความศักดิ์สิทธิ์ ขรึมขลัง และ ลี้ลับ ก็ยังคงอยู่ เพราะสิ่งเหล่านี้คือฐานคิดที่
สำคัญในระบบความเชื่อของผู้คนที่ฝังรากมายาวนาน อันส่งผลเสริมให้จตุคามรามเทพกลายเป็นกระแสที่แพร่หลาย
ที่น่าสังเกตคือ การผลิตจตุคามรามเทพด้วยเครื่องปั๊มพ์พิมพ์สมัยใหม่ ก็ไม่ได้ทำลาย aura ของวัตถุลงเลย เพราะในความเป็นจริงแล้วสังคมไทยมองว่าความศักดิ์สิทธิ์
สามารถผลิตซ้ำได้ไม่จำกัด อานุภาพของเทพมิได้ยึดติดกับวัตถุชิ้นใดเพียงชิ้นเดียว เพราะองค์เทพสามารถแบ่งอานุภาพออกเป็นส่วนๆในจำนวนที่สอดคล้องกับปริมาณ
การผลิตโดยเครื่องจักรสมัยใหม่ได้อย่างไร้ขีดจำกัด
หรือในกรณีธุรกิจค้าพระพุทธรูปและพระเครื่องซึ่งใครหลายคนมักคิดว่าวัตถุศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ตกเป็นเหยื่อของระบบทุนนิยมแต่เพียงฝ่ายเดียวเพราะการนำพระพุทธรูป
หรือพระเครื่องมาแปลงเป็นสินค้าที่ติดป้ายราคาในท้องตลาด เป็นกระบวนการลดทอนและทำลายสถานะศักดิ์สิทธิ์ของสิ่งเหล่านี้คำอธิบายข้างต้นแน่นอนมีส่วนจริง
แต่ไม่ทั้งหมด มันจริงเฉพาะกรณีผู้ซื้อที่มองมันเป็นแค่ศิลปวัตถุเอาไว้ตั้งโชว์ในห้องรับแขกแต่ในหลายกรณีสิ่งศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้สามารถธำรงรักษาความศักดิ์สิทธิ์ของตัวเอง
ได้ผ่านกระบวนการหลายอย่าง อาทิ เมื่อนำพระพุทธรูปไปผ่านพิธีกรรมบางอย่างก่อน เช่น เบิกเนตรใหม่ หรือนิมนต์พระมาทำพิธีปลุกเสกใหม่ เป็นต้น ซึ่งพิธีกรรมเหล่านี้
คือกระบวนการคืนความศักดิ์สิทธิ์กลับมาสู่พระพุทธรูปและพระเครื่องชนิดต่างๆ อีกครั้ง แม้ว่ามันจะเคยตั้งอยู่ในชั้นขายของและมีป้ายราคาติดอยู่ด้วยก็ตาม
นอกจากนี้ ชุดคำที่ใช้กับธุรกิจค้าขายความศักดิ์สิทธิ์เหล่านี้ก็มีลักษณะะเฉพาะที่ไม่ทำให้ความศักดิ์สิทธิ์เหล่านั้นดูไร้ค่าอย่างสมบูรณ์แบบ ไม่ว่าจะเป็นคำว่า“เช่าบูชา”
ที่มีความหมายคือ “ซื้อ”, คำว่า “บอกบุญ” ที่มีความหมายคือ“การเรี่ยไรเงิน” และคำอื่นๆ อีกมากมายในธุรกิจสิ่งศักดิ์สิทธิ์ ทั้งหมดนี้ เรามองเห็นลักษณะของทุนนิยมชัดเจน แต่เราก็มองเห็นการคงอยู่อย่างมั่นคงของสิ่งศักดิ์สิทธิ์เช่นเดียวกัน
ปรากฏการณ์นี้เป็นเรื่องจริงในสังคมไทยร่วมสมัยที่ไม่มีใครปฏิเสธได้ และไม่ว่าจะมองในมุมไหนก็ดูไม่ออกว่า ทุนนิยมมันได้เข้ามาทำลายความศักดิ์สิทธิ์ในสังคม
ไทยได้สักกี่มากน้อย สิ่งที่เห็นและเป็นอยู่ดูจะเป็นการจูบปากแต่งงานอย่างหวานชื่นระหว่างสิ่งศักดิ์สิทธิ์ทั้งหลายในสังคมไทยกับระบบทุนนิยมเสียมากว่า
ความเชื่อที่ว่า “ความศักดิ์สิทธิ์” เป็นคู่ตรงข้ามกับ “ระบบทุนนิยม” ในทัศนะผม คือปรากฏการณ์ของความกังวลต่อเส้นแบ่งของ “โลกศักดิ์สิทธิ์” (The sacred)
กับ “โลกสาธารณ์” (The profane) ที่มันไม่ชัดเจนและพล่าเลือนมากขึ้นเรื่อยๆ ในสังคมร่วมสมัย
โลกศักดิ์สิทธิ์ คือ ปริมณฑลของเหตุการณ์ พื้นที่ และ เวลา ที่พิเศษแตกต่างออกไปจากโลกของชีวิตปกติที่ทุกคนต้องประสบพบเจอทุกวันๆ ปริมณฑลนี้จะช่วยให้
มนุษย์ประจักษ์ถึงนามธรรมและจิตวิญญาณที่สูงส่ง พ้นไกลออกไปจากผัสสะทางกายของมนุษย์ อาจจะหมายถึง โลกหน้าหลังความตาย ผี พระเจ้า ความดีงาม ฯลฯ
ส่วนโลกสาธารณ์ คือ ปริมณฑลของเหตุการณ์ พื้นที่ และ เวลา ที่สัมพันธ์กับชีวิตประจำวันของมนุษย์ พบเจออยู่ทุกวันโลกที่สัมผัสจับต้องได้ เต็มไปด้วยกิเลส ผลประโยชน์
ความทะยานอยาก กระหาย รัก โลภ หลง และเกลียดชัง ซึ่งไม่ได้มีความสูงส่งหรือยิ่งใหญ่ แต่แน่นอนว่า มิได้หมายถึงความเลวร้าย ชัวช้า ต่ำทราม แต่อย่างใดนะครับ จริงๆ แล้วก็คือโลกปกติที่แสดงออกซึ่งธรรมชาติที่แสนธรรมดาของมนุษย์
การมีอยู่ของปริมณฑลศักดิ์สิทธิ์ ไม่ว่าจะเป็น ความเชื่อ พิธีกรรม หรือรูปสัญลักษณ์พิเศษใดๆ ล้วนคือภาพสะท้อนของโลกในอุดมคติอันสูงส่งที่ไม่มีอยู่จริง ในด้านหนึ่งก็เพื่อทำหน้าที่ยึดเหนี่ยวและเยียวยาทางจิตใจแก่ผู้คนในสังคม แต่อีกด้านหนึ่งที่สำคัญมากคือ การทำหน้าที่ผดุงรักษาโครงสร้างของระบบสังคม ตอกย้ำความดีงามของระบบ (แม้ระบบโดยส่วนใหญ่จะเต็มไปด้วยการกดขี่) อธิบายความสัมพันธ์เชิงอำนาจระหว่างคนกับคนในสังคม (ซึ่งมักจะไม่เท่าเทียมเสมอภาคกัน) ช่วยรักษาเสถียรภาพและความมั่นคงของสังคม (แม้จะเป็นเพียงความมั่นคงของคนบางกลุ่มบางเหล่า) ให้คำตอบแก่ปัญหาต่างๆ ในยามที่สังคมเผชิญหน้ากับวิกฤต
ด้วยเหตุนี้ จึงเข้าใจได้ว่าทำไมคนส่วนใหญ่จึงไม่อาจยอมรับได้ถึงการอยู่ร่วมกันระหว่าง สิ่งศักดิ์สิทธิ์ (ในฐานะตัวแทนของโลกศักดิ์สิทธิ์) กับ ระบบทุนนิยม (ในฐานะตัวแทนของโลกสาธารณ์) เพราะหากเชื่อว่าทั้งสองอย่างอยู่ร่วมกันได้ย่อมหมายถึงความพล่าเลือนของเส้นแบ่งระหว่างโลกศักดิ์สิทธิ์กับโลกสาธารณ์จะเกิดขึ้น
ทันที อันเป็นสิ่งที่น่ากังวลเป็นอย่างยิ่ง เพราะการมีอยู่ของพื้นที่ทั้งสองแบบคือการเติมเต็มธรรมชาติสองด้านของมนุษย์ พื้นที่ศักดิ์สิทธิ์ช่วยให้มนุษย์ไม่รู้สึกทุรนทุราย
กับความเป็นจริงในโลกที่บางครั้งโหดร้ายแสนสาหัสเกินไปและบำบัดความต้องการในเชิงจิตวิญญาณที่อยู่พ้นไปจากโลกปกติ พื้นที่สาธารณ์ช่วยบำบัดความต้องการ
ทางธรรรมชาติของมนุษย์ที่ยังเต็มไปด้วยรัก โลภ โกรธ หลง นานาประการ
แต่กระนั้น ความเป็นจริงที่โหดร้ายก็ได้เกิดขึ้นแล้วในสังคมไทยร่วมสมัย
ความเป็นจริงที่โหดร้ายดังกล่าวที่เราไม่อาจปฏิเสธได้คือ วัตถุทางวัฒนธรรมที่มีสถานะศักดิ์สิทธิ์ตามระบบสังคมก่อนยุคทุนนิยม อาทิ พระพุทธรูป เครื่องราง ของขลัง พระเครื่อง ฯลฯ ในสังคมไทยร่วมสมัยได้กลายเป็น รูปสัญญะ (Signifier) ที่มี ความหมายสัญญะ (Signified) ซ้อนกันอยู่อย่างน้อย 2 ประการ คือความหมายของการเป็นสิ่ง
ศักดิ์สิทธิ์ และความหมายของการเป็นสินค้าประเภทหนึ่งในระบบตลาดสมัยใหม่ซึ่งทั้งสองความหมายหลายคนคิดว่ามันขัดแย้งกัน แต่ในความเป็นจริงทางสังคม ความหมายทั้งสองสามารถดำรงอยู่ด้วยกันได้ในเวลาเดียวกัน
ยกตัวอย่างเช่น รูปสัญญะของพระพุทธรูปถูกผลิตซ้ำ ถูกตัดแปะ ดัดแปลง และย่อขยายมาเป็นส่วนหนึ่งของสินค้าที่มีความต้องการในตลาดการบริโภคอย่างสูงยิ่ง
เราพบเห็นสินค้าประเภทนี้เต็มไปหมด ตั้งแต่มือหักๆ ของพระพุทธรูปเศียรพระเก่าๆ ภาพวาดของศิลปินที่โคลสอัพพระพักตร์ของพระพุทธรูปจนเต็มเฟรม ฯลฯ สินค้าเหล่านี้ถูกซื้อไปประดับตามบ้านเศรษฐี ตั้งอยู่ในล็อบบี้โรงแรม แขวนอยู่เหนือเตียงตามรีสอร์ท ในขณะที่วัตถุสิ่งของเหล่านี้ก็สามารถตั้งอยู่ภายในห้องพระของ
บ้านเศรษฐี เพื่อทำหน้าที่เป็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ได้ในขณะเดียวกัน ซึ่งเราจะเห็นวัตถุศักดิ์สิทธิ์ในมิติที่ซ้อนทับในเชิงความหมายเหล่านี้ได้ทั่วไป ไม่ว่าจะเป็น ท่าพระจันทร์ ตลาดนัดจตุจักร ห้างสรรพสินค้า แกลลอรี่ทางศิลปะ แม้แต่เป็นสินค้าแบบกะดินที่จำหน่ายตามท้องถนน
การดำรงอยู่ของสถานะ 2 อย่างที่แตกต่างกันข้างต้น แม้สังคมไทยจะไม่อยากรับรู้ หรือแกล้งทำเป็นไม่รับรู้ก็ตาม แต่สถานะพร่าเลือนที่นำมาสู่การซ้อนทับกันในเชิงสถานะและความหมายดังกล่าวก็ดำรงอยู่จริง ซึ่งการดำรงอยู่ของปรากฏการณ์นี้คือสิ่งที่ยืนยันได้เป็นอย่างดีว่า ในสังคมไทย “ทุนนิยม”ได้แต่งงานกับ “สิ่งศักดิ์สิทธิ์”ไปเรียบร้อยแล้ว โดยที่ต่างฝ่ายต่างก็พึ่งพาอาศัยซึ่งกันและกันจนสมประโยชน์ไปด้วยกันทั้งสองฝ่าย
|