Prateep Suthathongthai

exhibition / project series
  Take Turn, (2009)  
    Eng   I   Thai

การย้อนกลับของกาลเวลา: เมื่อศิลปินวาดภาพด้วยกล้อง
วิภาช ภูริชานนท์

          "ผมหมุนไปรอบตัวเอง เดินขึ้น เดินลง และเดินไปรอบพื้นที่เดิมๆ ครั้งแล้วครั้งเล่า เพื่อมองหาอีกพื้นที่หนึ่งที่ซ้อนอยู่"ประทีป สุธาทองไทย พูดถึงระบบการทำงาน
ของเขา ระหว่างที่กำลังบันทึกภาพในโรงละครที่สร้างไม่เสร็จหนึ่ง ในมหาสารคาม เพื่อนำมาแสดงในนิทรรศการเดี่ยว ครั้งนี้ เขาเงยหน้าขึ้นมองฟ้า ครุ่นคิดมองภาพ
สเก็ตซ์บนมือ มองที่วัดแสง ปรับขาตั้งกล้อง รอ และลั่นชัตเตอร์ หลังจากนั้นก็ขยับกล้อง Medium Format อันยักษ์คู่ใจก้าวขึ้นไปตั้งบนบันไดอีกขั้นหนึ่ง แล้วเริ่มทำใหม่
ทั้งหมด กระบวนการดังกล่าวเกิดขึ้นซ้ำแล้วซ้ำเล่า จวบจน ตะวันบ่ายลาลับแสง เชื่องช้าเสียจนผู้ที่เฝ้าสังเกตคงไม่คิดว่านี่คือการบันทึกภาพ หรือไม่เข้าใจว่าจะถ่ายภาพซ้ำๆ
กันไปทำไม แต่พอนำเอาฟิล์ม สไลด์ทั้งหมดมาวางเรียงกัน ผลลัพธ์ที่เกิดขึ้นก็คือ ภาพของโรงละครอันเดิมที่ถูกร้อยเรียงขึ้นใหม่อย่างแปลกตา และแทบไม่เหลือลักษณะของ พื้นที่เดิมอยู่เลยนอกเสียจากผู้ดูจะเข้าไปจับจ้อง ณ ภาพในช่องตารางใดตารางหนึ่งโดยเฉพาะ เหมือนกับที่ศิลปินพูดว่าสำหรับเขาแล้ว สิ่งนี้คือ “ความจริงที่เห็นพร้อมกัน”
          อันที่จริงแล้วอาจกล่าวได้ว่านี่ไม่ใช่ครั้งแรกที่ประทีปทำงานภาพถ่ายในลักษณะนี้และเขาเองก็ไม่ใช่คนแรกที่สร้างสรรค์ผลงานภาพ ถ่ายด้วยเทคนิคนี้ตัวประทีปเอง
เริ่มทำงานภาพถ่ายในรูปแบบเช่นนี้มาตั้งแต่ศึกษาปริญญาโทอยู่ที่มหาวิทยาลัยศิลปากรโดยผลงานช่วงแรกนั้นจะเป็นการเรียงร้อยภาพถ่ายของคนในลักษณะต่างๆให้รวม
กันเป็นรูปลักษณ์ของรูปเคารพในศิลปะตะวันออกที่มีลักษณะเหนือจริง ก่อนที่ จะเปลี่ยนมาสนใจในประเด็นของสถาปัตยกรรมและพื้นที่ในภายหลัง ส่วนเทคนิคการเรียง
ภาพถ่ายให้เกิดเป็นภาพใหม่นั้นก็มีการทดลองทำมา นานพอสมควรแล้วในศิลปะสมัยใหม่ของตะวันตกดังเช่นผลงานภาพถ่ายของ David Hockney ชุดสระว่ายน้ำกับเพื่อน
ชายซึ่งเป็นที่คุ้นเคยกันดี หากแต่กระบวนการทำงานของประทีปนั้น ได้มีการพัฒนาตามลำดับจนสุดท้ายก็หลุดออกจากกรอบของความเป็นภาพถ่ายในลักษณะนั้นไป
          ส่วนหนึ่งที่เป็นประเด็นสำคัญที่พัฒนาก้าวข้ามไปจากผลงานของ Hockney ก็คือกระบวนการทำงานที่มีลักษณะเป็นขั้นตอนชัดเจนเห็นได้จากการเรียงตัวของ
ตัวเลขกำกับลำดับฟิล์มในผลงานแต่ละชิ้น ซึ่งที่แตกจากจากการปะติดปะต่อภาพจากกล้องโพลารอยด์ของ Hockey ผลงานของประทีปนั้นจึงเต็มไปด้วยห้วงเวลา ดั่งเช่นที่ธนาวิ โชติประดิษฐ กล่าวเอาไว้ ในบทวิจารณ์ของนิทรรศการชุดก่อนว่าเป็นการ “ปรากฏ(ของ)กาล(เวลา)” ในภาพถ่าย ซึ่งก็มีส่วนแตกต่างจากฟิล์มภาพยนตร์
ตรงที่ผู้ดูนั้นเห็นพร้อมกันหมดในครั้งเดียว ไม่ได้เป็นไปตามลำดับขั้นดังเช่นภาพเคลื่อนไหว
          ร่องรอยหลงเหลือของเสี้ยวเวลาในผลงานของประทีปนั้นยังทำให้นึกถึงการทำงานจิตรกรรมในยุคก่อน ที่แม้ว่าจะเกิดจากการ บันทึกความประทับใจในห้วงเวลา
หนึ่งของภาพที่เบื้องหน้า หากแต่ช่วงเวลาในการทำงานของจิตรกร และช่างภาพกลับแตกต่างกันอย่าง สุดปลายส่วนผลงานของประทีปนั้นก็ออกจะดูลักลั่นระหว่างความ
แตกต่างเชิงเวลาทั้งสอง เมื่อนำเวลาในการทำงานทั้งหมดจากการสเก็ต ถ่ายจริง ไปจนถึงการล้างอัด มารวมเข้าด้วยกัน ผลลัพธ์จึงอาจจะพอ ๆ กับช่วงเวลาการทำงานที่
จิตรกรผู้หนึ่งวาดภาพ อาจกล่าวได้ว่าการ ทำงานของประทีปจึงเป็นการบันทึกภาพลงบนผ้าใบด้วยความสัมพันธ์แบบเดียวกัน กับของจิตรกรสมัยโรแมนติกที่มีต่อ
ผืนผ้าใบและทิวทัศน์ ที่เบื้องหน้า
          เมื่อกล่าวถึงความสัมพันธ์ของศิลปินกับพื้นที่ จุดสังเกตอีกประการในวิธีการสร้างสรรค์งานของประทีปก็คือด้วยการที่ เขาทำงาน จิตรกรรมมาก่อนในขณะที่
ศึกษาอยูที่วิทยาลัยเพาะช่าง ความเคยชินดังกล่าวได้ทำให้ในการทำงานจริงแต่ละครั้ง ไม่ว่ากล้องจะหมุน พลิกคว่ำพลิกหงายไปทางใด สิ่งหนึ่งที่เขาคำนึงก็คือองค์รวม
ที่เกิดขึ้นจากสายตาที่ถูกฝึกมาอย่างจิตรกรซึ่งมองด้วย สายตาคนละแบบกับช่างภาพส่วนใหญ่ที่นอกจากจะถูกจำกัดอยู่เพียงแค่ในช่องมองภาพแล้วยังถูกจำกัดด้วยระยะ
ของเลนส์ ดังนั้น ผลงานภาพถ่ายของประทีปจึงหลุด ออกจากกรอบและข้อจำกัดต่างๆ ของการถ่ายภาพทำให้เขาสามารถสร้างสรรค์พื้นที่แห่งใหม่ ลงบนผลงานได้
โดยที่ใช้ทั้งสายตาแบบหนึ่ง จ้องมองที่ช่องมองภาพ และใช้สายตาอีกแบบหนึ่งในการมองไปยังองค์รวม การทำงาน อย่างกลมกลืนของสายตาทั้งสองแบบนี้เองที่ทำให้ เขาสามารถสร้างสรรค์ผลงานออกสู่สายตาของเราได้อย่างลงตัว
          ดังนั้นภายในความหมายของ “กาลกลับ” แล้ว จึงเต็มไปด้วยการพลิกกลับไป-มาของมุมมองที่รวมไปถึงการพลิกกลับ ของ วาทกรรมพื้นฐานที่ก่อร่างสร้าง
มุมมองของเราด้วย จากการกลับของเวลาในภาพ องศาของมุมมอง และองค์รวมของการมอง ไปสู่การ หวนกลับไปมองภาพถ่ายอย่างจิตรกรรม และมองความ (น่าจะ) จริงของภาพถ่าย เป็นความเหนือจริงอย่างเต็มขั้น ผลงาน ของประทีปนั้นยืน อยู่ระหว่างการถ่ายภาพอย่างจิตรกร และการมองภาพถ่ายอย่างจิตรกรรม เวลาที่ไม่มีอยู่จริง
จึงสอดรับกับ นามธรรมของพื้นที่อย่างถึงที่สุด
          แต่หากคำนึงถึง “กาล” ในฐานะของ “ปัจจุบันขณะ” แล้ว “กาลกลับ” อาจจะหมายถึงการที่ผู้ดูได้มีโอกาส เดินกลับไป กลับมา รอบพื้นที่เดิมในนิทรรศการเพื่อมองหา
พื้นที่ใหม่ในงานของประทีป ด้วยวิธีการเดียวกับเขา
          เหมือนกับว่าเราทุกคนต่างก็เดินขึ้น เดินลง และเดินไปรอบๆ พื้นที่ของเรา เพื่อหาพื้นที่ใหม่อยู่ทุกเมื่อเชื่อวัน

image video text